รีวิวภาพยนตร์เรื่อง “โรคกาวใจ” (กางจอ 25)
--
กาวใจ เป็นภาษาปาก แปลว่าช่วยประสานรอยร้าว ในหนังไม่ได้ปรากฏว่าสรุปแล้วโบทกับแม่คืนดีกันหรือไม่? หรือเข้าใจอะไรกัน? แต่แน่ๆก็คือ หนังนี่เป็นงานตัดแปะที่มีแต่กาวเหนียวเหนอะหนะไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเสียงบรรยายไปกับภาพที่น่ารำคาญ การแสดงที่บางคนชอบ แต่หลายคนก็อาจรู้สึกว่าน้ำเน่า เรื่องนี้จะบอกว่าเป็น drama ก็ละเลยความรู้สึกที่ควรสำรวจ จะบอกว่าเป็น romance ก็พูดข้ามพัฒนาการความสัมพันธ์ จะเป็น coming of age ก็ไม่เห็นการเดินทางที่แน่ชัดของตัวละคร
เรื่องนี้เป็นเรื่องการเรียนรู้ของตัวละครแม่ แม่เป็นผู้หญิงอารมณ์ไม่ดี ขี้เหนียว ไม่มีอารมณ์ขันจนเข้าใจได้ว่าทำไมลูกมันจึงทนไม่ได้ และเป็นหม้าย แต่หนังไม่สามารถที่จะทำให้เราเข้าใจได้ ทำได้ก็เพียงตื้นเขิน จาก 10 ทำได้ 1–2 ว่ารายละเอียดของอารมณ์ร้ายๆของแม่นั้นมีที่มาจากอะไรบ้าง เป็นต้น นอกจากนี้ทั้งตัวบททั้งตัวการแสดงเองก็พอกัน ตามธรรมชาติอารมณ์มนุษย์มีจุดก่อตัว จุดระเบิดออก และจุดคลี่คลายจนกลายเป็นการแก้ปัญหา ดูเหมือนการแสดงจะนำเสนอการระเบิดอารมณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าโดยเราไม่สามารถเห็นจุดพักผ่อนของการก่อตัว และแก้ปัญหาได้เลยทีเดียว
ผลจากการหายตัวไปของพ่อ อาจปรากฏมาเป็นการใช้ทีวีเป็นสิ่งทดแทน แต่นอกจากโบ้ทมองทีวีตอนต้นเรื่องแล้ว เราไม่เข้าใจว่าเขาผูกพันกับโทรทัศน์มากขนาดไหน ชีวิตนี้เหงาแค่ไหน ตอนโบ้ทช่วยตัวเอง ก็ไม่เซนชวลเอาเสียเลย นอกจาก 13 นาทีแรกแล้ว (จะตัดจบเลยก็ได้) เราแทบไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับโบ้ทเลย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องเข้าใจเพราะมันจะช่วยเติมเต็มดราม่าของฝ่ายแม่ได้เนื่องจากมันคือการต่อสู้ของสองความคิดที่ควรจะฟาดฟันกันไปจนจบ ไม่ใช่จบแบบคลุมเครือเพราะหาทางจบไม่ได้ หนังจึงเป็นการเล่าเรื่องของแม่ ซึ่งขาดรายละเอียดชีวิตและมีความเข้าใจที่ตื้นเขินว่าเรื่องต่างๆที่รุมเร้าเข้าสู่คนเป็นแม่ในชีวิตจริง เช่น เรื่องการเงิน ซึ่งหนังพูดถึงแต่ไม่เล่า ทั้งๆที่น่าจะมีผลกระทบอย่างยิ่ง เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น ฉากหลังยังเป็นส่วนที่สามารถใส่ปรัศเจรีย์ตัวใหญ่ตามหลังไปสักร้อยตัว ???????????? บ้านมันดูดี อบอุ่น รวยจนมันไม่ชวนให้เชื่อว่าสองคนนี้มีปัญหาซึ่งมาจากการขาดพ่อ จนครอบครัวขาดความมั่นคง เหมือนพูดเรื่องชนชั้นหนึ่ง ในบ้านของคนอีกชนชั้นหนึ่ง ไม่น่าเชื่อเอาเสียเลย
หนังเปิดมาด้วยคำถามว่า ชีวิตลูกมีความสำคัญขนาดไหนสำหรับคนเป็นแม่ หรือถ้าวันหนึ่งลูกหายไปแล้ว แม่จะทำอย่างไรต่อไป? มาถึงกลางเรื่องว่าไม่ควรจะไปบังคับลูกจนเกินไปนัก แล้วทำความเข้าใจผ่านการบอกเล่าของคนอื่นอีกที เท่ากับว่าตัวละครไม่ได้เดินทางเพื่อค่อยๆทำความเข้าใจคำถามที่ตั้งเอาไว้ซะเลิศลอย จนถึงจุดสุดท้ายในโมโนล็อกหน้ากล้องก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่าอะไรกันแน่ที่แม่เรียนรู้ว่าคือความสำคัญของลูกคนนี้ในชีวิตของเธอ นอกจากนี้อย่างอื่นๆเช่นละครในโทรทัศน์ก็ไม่ได้ช่วยสะท้อนหรือส่งความหมายอะไรให้กับเรื่อง เป็นงานเขียนที่ฟุ้งซ่าน หลงระเริง และไม่อยู่กับร่องกับรอย
หนังเสแสร้ง และหลบเข้าสู่จุดปลอดภัยพอเอาตัวรอดไปเรื่อยๆ (ไมค่อยรอด) เพราะหนังหลบสิ่งที่ต้องเผชิญเมื่อเลือกจะเล่าในประเด็นต่างๆเหล่านี้ การกระโดดข้ามไปข้ามมา ออกทะเลไปจนถึงเล่าเรื่องน้องชายมีขนเต็มตัว ซึ่งถ้าอยู่ในระหว่างพัฒนาบทก็อาจจะเข้าใจได้ว่าอาจจะพยามพูดว่าครอบครัวอื่นๆมีรอยร้าวความสัมพันธ์อย่างไรบ้าง แต่หนังก็ทำไม่สำเร็จจนส่วนนี้กลายเป็นส่วนที่จะตัดไปก็ย่อมได้ สิ่งสำคัญๆที่ต้องทำให้เราเห็น ***** ด้วยการกระทำและภาพ ***** กลับใช้บทสนทนาบอกๆๆๆๆๆๆทุกอย่างตรงๆโพล่งๆๆๆๆๆราวกับเล็กเชอร์ นี่คือศิลปะภาพยนตร์?
ไม่แน่ใจว่าดูแล้วเราจะสะเทือนอารมณ์ยังไงไหวเมื่อเราไม่สามารถเข้าใจความเป็นไปของทุกสิ่งอย่างในหนังได้อย่างแจ่มชัด งานนี้ไม่มีอดีต ปัจจุบัน อนาคต ไม่มีคำถาม คำตอบ หรือข้อสรุปที่ชัดเจน หรือที่อนุมานเอาได้ ถึงอย่างนั้นก็มีคนเยอะมาก(เป็นธรรมดา)ที่บอกว่าดูแล้วร้องไห้เพราะทรงพลัง ? นอกจากนี้หนังเรื่องนี้ยังได้รางวัลจากมูลนิธิหนังไทย